วันจันทร์, ตุลาคม 23, 2549

เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้ดูแค่เม็ดเงิน

รื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ยังเป็นเรื่องเถียงกันไม่จบว่าความหมายที่แท้จริงคืออะไร บางคนยังงงว่าถ้าประเทศไทยต้องการเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ทำไมต้องพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ทำไมต้องสร้างความเจริญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกันด้วย สิ่งนี้แสดงถึงความไม่แตกฉานในปรัชญานี้เป็นอย่างมาก

เมื่อวันก่อนผมมีโอกาสเข้ารับฟังการแถลงผลการประชุม เรื่องที่รัฐบาลจะเลื่อนหรือไม่เลื่อนการยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ในวันที่ 1 มกราคม 2550 คุณ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้อธิบายถึงความพร้อมและเหตุผลถึงการไม่น่าจะยกเลิกน้ำมันเบนซิน 95 แบบหักดิบ แต่ควรจะใช้กลไกตลาดโดยสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาใช้แก๊สโซฮอล์ จนท้ายที่สุดคนจะเลิกใช้เบนซิน 95 ไปเองมากกว่า เหตุผลที่สำคัญของการเลื่อนการยกเลิกเบนซิน 95 ก็เพราะไทยยังไม่สามารถผลิตเอทานอล ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตแก๊สโซฮอล์ได้เพียงพอ ถ้ายังดึงดันจะยกเลิกเบนซิน 95 ในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า ไทยจะต้องนำเข้าเอทานอลจากต่างประเทศแน่นอน อย่างนี้จะเรียกว่าพอเพียงได้อย่างไร

อีกเรื่องที่การประชุมพูดถึงคือการยกระดับมาตรฐานน้ำมันในประเทศ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล "ยูโร 4" ซึ่งประเทศไหนๆ ก็ใช้มาตรฐานนี้เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจากน้ำมันมาตรฐานยูโร 4 มีส่วนประกอบของสารพิษต่ำกว่าน้ำมันที่ขายในประเทศเราทุกวันนี้มาก แต่ปัญหาก็คือการไปให้ถึงจุดนั้นได้ โรงกลั่นน้ำมันต่างๆ ในบ้านเราต้องปรับปรุงระบบการกลั่นใหม่ นั่นหมายถึงเม็ดเงินที่ต้องใช้ในการนี้รวมๆ แล้วทุกโรงกลั่นก็ประมาณ 50,000 ล้านบาท

พอฟังถึงจำนวนเงินนี้เท่านั้น นักข่าวจากสื่อแห่งหนึ่งก็ถามรัฐมนตรีพลังงานว่า ใช้เงินเยอะขนาดนี้เป็นเศรษฐกิจพอเพียงตรงไหน คุณปิยสวัสดิ์ได้ยินคำถามนี้ก็อึ้งไปสักครู่หนึ่ง ก่อนตอบว่าเงินจำนวนนี้ไม่ได้จ่ายในครั้งเดียว แต่จะค่อยๆ ทยอยใช้ปรับปรุงระบบโรงกลั่นไปเรื่อยๆ อาจจะเป็น 3 ปี 5 ปี ก็ว่าไป ซึ่งผลที่ได้กลับมาจะคุ้มค่ากว่า 50,000 ล้านบาทมาก

ผมไม่รู้ว่านักข่าวคนนั้นได้รับคำตอบแล้วจะเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้นหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคือคุณปิยสวัสดิ์ไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไมคำว่า "พอเพียง" ถึงดูเพียงแค่จำนวนเงิน ทำไมถึงคิดว่า 50,000 ล้านบาท มันไม่พอเพียง ทำไมถึงคิดว่า 50,000 ล้านบาท มันมากเกินไป

สิ่งที่ต้องถามกลับนักข่าวคนนั้นก็คือ 50,000 ล้านบาทนั้น น้อยไปหรือเปล่ากับการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อม ค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่ประชาชนคนไทยต้องเสียไปกับมลพิษทางอากาศ อันเนื่องมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์นั้น มากเสียจนไม่อาจประนีประนอมได้อีกแล้ว ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าตำรวจจราจรหลายรายเจ็บป่วยจากโรคทางเดินหายใจจนต้องเข้าโรงพยาบาล เนื่องจากสูดอากาศเสียสะสมเข้าไปทุกวัน ซึ่งก็คงไม่ต่างจากผู้โดยสารที่เดินทางโดยรถโดยสารประจำทางแบบไม่ปรับอากาศ ที่ต้องสูดดมมลพิษเข้าไปทุกวันเช่นกัน และแน่นอนว่าจำนวนคนที่ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจคงไม่ได้มีเพียงคนหรือสองคน จากจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานครนับ 10 ล้านคนทุกวันนี้ และจะมีสักกี่คนที่ยังไม่แสดงอาการ และจะมีสักกี่คนที่มีอาการแสดงออกมาแล้ว แต่ไม่ทราบว่ามีผลสืบเนื่องมาจากอะไร

คนป่วยเหล่านี้ ใช่หรือไม่ที่รัฐต้องเข้าไปรับภาระในการรักษา ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นคนระดับกลางถึงล่าง เพราะเป็นผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางแบบไม่ปรับอากาศ ดังนั้น ประกันสังคมจึงเป็นตัวเลือกอันดับแรกที่ต้องเข้าไปประคับประคอง รวมทั้งเงินจากส่วนอื่นๆ ของภาครัฐที่ต้องเข้าไปดูแลอีกด้วยหากประกันสังคมไม่พอใช้จ่าย แต่มีใครเคยคิดบ้างหรือไม่ว่าเงินจำนวนนี้ในแต่ละปีมีจำนวนเท่าไหร่ และในอนาคตหากเรายังใช้น้ำมันที่มีมลพิษสูง จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่

แน่นอนว่าการเจ็บป่วยจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อม เป็นการเจ็บป่วยแบบสะสม ไม่ใช่การเจ็บป่วยแบบเฉียบพลัน เพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่จึงไม่ตระหนักถึงอันตรายของมัน ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเคยใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของสารตะกั่วเพื่อเป็นการเพิ่มค่าออกเทน แต่วันหนึ่งเราก็ต้องยกเลิกมันไปเพราะต่างประเทศเขาวิจัยพบอันตรายของสารตะกั่วและเลิกใช้มานานมากแล้ว แม้กระทั่งสีทาผนังบ้านที่มีสารตะกั่ว เขาก็เลิกใช้มานานแล้วเช่นกัน เพราะมีโอกาสที่จะระเหยออกมาทำอันตรายกับผู้อยู่อาศัยในบ้านได้ แต่ตอนนั้นคนไทยก็กลัวและกังวลว่าเครื่องยนต์จะน็อค อัตราเร่งจะเสีย กลัวสารพัด แต่ไม่กลัวสุขภาพตัวเองเสีย แปลกดีเหมือนกัน

มาถึงตอนนี้รัฐพยายามรณรงค์ให้คนหันมาใช้แก๊สโซฮอล์ ไม่เพียงเพราะว่าแก๊สโซฮอล์ถูกกว่า แต่เพราะว่าแก๊สโซฮอล์มีการเผาไหม้ที่ดีกว่าน้ำมันเบนซิน 95 ทำให้มีสารตกค้างออกมาในอากาศน้อยกว่าด้วย ซึ่งสารตกค้างที่เราถือว่าเป็นมลพิษทางอากาศนี้ นอกจากจะทำอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย เช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ ซึ่งเป็น greenhouse gas หรือสารที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก และก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน หรือ global warming ตามมา

มีการยืนยันจากผลการวิจัยหลายแห่งทั่วโลกแล้วว่า สารเรือนกระจกเหล่านี้ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนจริง เพราะมันไปทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลก ทำให้แสงอาทิตย์ส่องลงมาที่พื้นผิวโลกโดยตรง ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น และถ้ามองกันเฉพาะจุด เฉพาะสถานที่ นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่าบริเวณขั้วโลกเหนือมีช่องโหว่ของโอโซนอยู่ ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายมากขึ้น หลายคนอาจคิดว่าน้ำแข็งละลายแล้วเราเดือดร้อนอะไร แน่นอนว่าเราไม่เกี่ยวโดยตรง แต่เราได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นั่นก็คือเมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลายกลายเป็นน้ำมากขึ้น น้ำทะเลบริเวณนั้นก็เจือจางลง ความเค็มลดลง ผลอันแรกคือสัตว์น้ำ พืชน้ำ ปะการัง และระบบนิเวศน์ใต้น้ำ ก็จะดำรงอยู่ไม่ได้ ปริมาณสัตว์น้ำจะร่อยหรอลงทุกปี ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้น้อยลง ทำให้ราคาอาหารทะเลแพงขึ้น อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น วิถีชีวิตของชาวประมงและคนชายฝั่งต้องเปลี่ยนไป หันไปประกอบอาชีพอื่นหรือเกิดภาวะว่างงาน เป็นภาระที่รัฐต้องเข้าไปอุ้มชูด้วยภาษีของประชาชน

ผลอันที่สองคือกระแสน้ำในมหาสมุทรที่ปกติจะมีการหมุนเวียนจากเหนือไปใต้ จากใต้ไปเหนือ ก็จะแปรเปลี่ยนไป เพราะความเข้มข้นของน้ำทะเลถูกเจือจางลงจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก กระแสน้ำเย็นและน้ำอุ่นไม่สามารถหมุนเวียนได้ตามธรรมชาติ ทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไป เกิดเอลนิลโญ่และลานิลญ่าบ่อยครั้ง บางแห่งฝนตกผิดฤดูกาล บางแห่งฝนแล้งผิดธรรมชาติ หากเป็นประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่ลุ่มเยอะและมีการตัดไม้ทำลายป่ามาก เมื่อเกิดฝนตกมากผิดฤดูกาล ก็ก่อให้เกิดความเสียหายมากมายนับไม่ถ้วน เศรษฐกิจต้องชะลอตัวลงไป และรัฐก็ต้องใช้งบประมาณเข้าไปอุดหนุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเช่นกัน

อย่างเช่นเหตุอุทกภัยคราวนี้ของไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกมาให้ตัวเลขความเสียหายเบื้องต้นแล้วว่ามีจำนวนถึง 17,000 ล้านบาท ยังไม่นับรวมปัญหาสุขภาพของประชาชนอันเกิดจากน้ำท่วม ทั้งโรคเท้าเปื่อย ผื่นคัน ฉี่หนู และปัญหาสุขภาพจิตอีกที่กรมสุขภาพจิตต้องเข้าไปดูแล ที่สำคัญนี่เป็นตัวเลขของความเสียหายเพียงปีเดียวเท่านั้น หากเกิดเหตุอุทกภัยเช่นนี้เพียง 3 ปี ไทยก็จะสูญเสียทางเศรษฐกิจเกิน 50,000 ล้านบาทแล้ว

จึงถามว่าเม็ดเงินในการปรับปรุงน้ำมันให้มีความสะอาดเพิ่มมากขึ้นและก่อมลพิษน้อยลงในระยะยาวแล้ว ตัวเลข 50,000 ล้านบาท มากไปหรือ? และการปรับปรุงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นนี้ ควรนับเป็นวิถีเศรษฐกิจพอเพียงได้หรือไม่ นักข่าวคนนั้นและประชาชนไทยควรนำกลับไปคิดครับ

ไม่มีความคิดเห็น: